น้อง ๆ ที่เปิดเทอมใหม่ ๆ จะมีวิธีการ “เลือกที่นั่ง” เรียนที่แตกต่างกัน บางคนอาจชอบนั่งหน้าห้อง บางคนชอบนั่งหลังห้อง บางคนชอบนั่งริมหน้าต่าง บางคนชอบนั่งติดริมประตู ซึ่งเป็นเรื่องของความชอบของแต่ละคน วันนี้ทาง ติวเตอร์จุฬา (Chula Gradeup Tutor) ขอมาแนะนำวิธีการ “เลือกที่นั่ง” ที่อาจทำให้เราสามารถเรียนได้ดีขึ้น โดยการเลือกที่นั่งให้ถูกโฉลกกับ น้อง ๆ นั่นเอง
งานวิจัยหลายชิ้นได้เสนอแนวคิดว่า ที่นั่งในห้องเรียนมีผลต่อประสิทธิภาพการเรียนของเด็ก ไปดูสิว่าที่นั่งที่น้องๆ นั่งอยู่ตอนนี้ เป็นที่นั่งที่ เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของเราหรือไม่? ตามไปดูกันได้เลย…
1.เฉื่อยชาตลอดเวลา…นั่งหน้าเลย
งานวิจัยส่วนใหญ่บอกว่านักเรียนที่นั่งแถวหน้าเป็นเด็กที่มีความตั้งใจ มีความรู้สึกบวกกับการเรียน ซึ่งสิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเด็กๆ มีแรงบันดาลใจที่ดีในการเรียน และมีแนวโน้มว่าจะประสบความสำเร็จในการเรียนสูงมาก ถ้าวันไหนน้องๆ นั่งเรียนแล้วเฉื่อยชา ขี้เกียจ ลองย้ายตำแหน่งมานั่งหน้าดู จะได้รับแรงกระตุ้นจากคุณครู อีกทั้งยังมองกระดานชัดเจน ทำให้จดจ่ออยู่กับบทเรียนตรงหน้าแบบไม่วอกแวก ซึ่งสิ่งนี้ก็จะช่วยให้ผลการเรียนเราดีขึ้นก็เป็นได้
2.ไฮเปอร์เกินเหตุ…เชิญตรงกลาง
สำหรับน้องๆ ที่กระฉับกระเฉง ตื่นตัวกับการเรียนตลอดเวลา เหมาะกับการนั่งตรงกลางที่สุด เพราะครูมักจะชอบถามคนที่นั่งตรงกลางเป็นส่วนใหญ่ อีกอย่างงานวิจัยก็บอกไว้ว่า ที่นั่งตรงกลางคือที่ที่เราอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลครูจนเกินไป ยังมีพื้นที่ให้ตัวเองได้ผ่อนคลาย และไม่เกิดความกดดันใดๆ สมองเลยพร้อมเปิดกว้างต่อการรับข้อมูลและใช้ความคิดมาก โดยเฉพาะความคิดสร้างสรรค์ การครีเอตไอเดียในการจดจำข้อมูลต่างๆ
3.อยากได้พื้นที่ส่วนตัว…หลังห้องก็ดี
เรื่อง “ที่นั่งในหลังห้องเรียน” เป็นหนึ่งในที่คนส่วนใหญ่มักจะแย่งกัน มีการค้นหาคำตอบอยู่เสมอว่ามีผลต่อการเรียนขนาดไหน ส่วนใหญ่เป็นไปในแนวทางเดียวกันคือ เด็กหลังห้องมักจะได้เกรดน้อยหรือเรียนแย่กว่าเด็กหน้าห้อง เพราะพวกเขาอยู่ในจุดที่ไกลจากคุณครู อาจจะไม่ได้ยินเสียง มองกระดานไม่เห็น และแอบทำอย่างอื่นในเวลาเรียนได้ เช่น อ่านการ์ตูน เล่นเกม กินขนม
4.เรียนตามไม่ค่อยทันต้องนั่งข้างคนเก่ง!
น้องๆ อาจจะเคยได้ยินงานวิจัยที่พูดถึงเรื่องของการอยู่ใกล้คนเก่ง แล้วทำให้เราประสบความสำเร็จมาบ้าง แนวคิดนี้กล่าวว่าถ้าอยากเก่ง และเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การปรับที่นั่งไปอยู่ข้างๆ คนเก่ง หรือมีความเชี่ยวชาญในแบบที่เราต้องการเป็นเหมือนเขา ช่วยได้จริงๆ นะ เพราะนี่ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดีอย่างหนึ่งเลยทีเดียว
5.สติหลุดง่าย…อย่าเข้าใกล้ประตู – หน้าต่าง
ข้อดีของการนั่งติดประตู – หน้าต่าง คือ มีจุดพักสายตา ลมพัดเย็นสบาย ทำให้ผ่อนคลาย
แต่! ข้อเสีย ของการนั่งติดประตู มันทำให้เราอยากเดินออกนอกห้องตลอดเวลา ยิ่งใครเดินผ่านไปผ่านมานี่ เผลอหันไปมองทุกที ส่วนการนั่งติดหน้าต่าง แน่นอนว่าเผลอไม่ได้ ต้องมีแอบมองฟ้าอยู่เสมอๆ บางทีอากาศเย็นๆ ก็หลับเป็นตาย หรือถ้าอากาศร้อนแดดแยงตาก็อาจเหงื่อตกได้
สรุปว่าสมาธิแทบไม่ได้จดจ่ออยู่กับการเรียนเลย แล้วควรเปลี่ยนที่ไปนั่งตรงไหน? มีทางแก้อยู่ 2 วิธี คือ
วิธีที่ 1 : นั่งตรงจุดที่เราจะได้ยินเสียงคุณครูครบถ้วนที่สุด อาจเป็นระดับแถวหน้าไล่มาถึงกลางๆ หรือเป็นตำแหน่งที่ใกล้ชิดกับจุดที่ครูยืนสอน เพราะน้องๆ จะมอง และได้ยินเสียงครูแบบคมชัดระดับ FULL HD ไม่กล้าเหม่อแน่นอน อีกอย่างงานวิจัยค้นพบด้วยว่า การที่เรานั่งห่างจากครูเกินไปทำให้ไปลดประสิทธิภาพการเรียนลดลง เพราะอาจจะมองกระดานไม่เห็น ไม่ค่อยได้ยินเสียงครู และฟุ้งซ่านกับสิ่งรบกวนต่างๆ ได้ง่าย
วิธีที่ 2 : ทำสมองให้มีสมาธิ ถ้าชอบทำเลนี้จริงๆ ก็ต้องมีสมาธิให้ได้ หลายงานวิจัยได้พูดถึงกลไกการทำงานของสมอง ว่าสมองจะรับข้อมูลประมาณ 30 – 50 นาที ไม่ควรเกิน 60 นาที (คาบเรียนของน้องๆ ในแต่ละวิชา ก็จะกินเวลาอยู่ประมาณนี้) น้องๆ สามารถคุมสติตัวเองให้โฟกัสอยู่กับการเรียนในช่วงเวลานี้ได้ จากนั้นค่อยปล่อยให้สมองได้พักสักประมาณ 5 – 10 นาที เพื่อชาร์จแบต และประมวลผลข้อมูลต่างๆ ช่วงเวลานี้ ถ้านอนได้ก็นอน หรือจะปล่อยให้สายตามองต้นไม้เขียวๆ นอกหน้าต่างให้ใจเบิกบาน ก็ตามสบายเลย
ถ้าน้องๆ มองเพื่อนในห้องแล้วรู้สึกว่าเพื่อนคนนี้เรียนเก่งจัง ลองเข้าไปคุยกับเขาดู รู้จักเพื่อเรียนรู้ว่ากว่าที่เพื่อนจะเก่งขนาดนี้ ใช้ความพยายามขนาดไหน มีความรับผิดชอบในการเรียน มีเคล็ดลับดีๆ อย่างไร จะได้นำมาปรับใช้กับเราบ้าง ไม่ใช่รู้จักเพื่อเปรียบเทียบกับตัวเองว่า ทำไมเขาเก่ง ส่วนเราหัวทึบนะ เพราะนั่นมีแต่จะบั่นทอน ไม่ใช่การพัฒนาตัวเอง!!!
***ยังมีงานวิจัยอีกชิ่นหนึ่งที่พบว่า สิ่งสำคัญที่สุดยิ่งกว่าการนั่งตรงไหน คือการที่เราได้นั่งอยู่ในบรรยากาศที่เราชอบเป็นอะไรที่ดีที่สุด เด็กหลังห้องไม่ใช่เด็กที่จะเกเรเสมอไป เพียงแต่ที่นั่งตรงนี้อาจเป็นมุมสงบ ที่ทำให้เราไม่ต้องเป็นจุดโฟกัสของใคร (ยกเว้นครูที่อาจเรียกให้ตอบคำถามบ้าง) และบางคนก็เลือกที่จะนั่งหลังห้องในจุดที่มักจะโดนคนมองในแง่ลบว่าไม่ตั้งใจเรียน เพื่อผลักดันให้ตัวเองใฝ่รู้ และเต็มที่กับการเรียนมากกว่าเดิมก็ได้
จริงๆ แล้ว เหนือกว่าการพาตัวเองไปอยู่ที่นั่งไหนให้เรียนดี ก็คือตัวของเราเองนี่แหละ… ที่จะตั้งใจและมีความรับผิดชอบต่อการเรียนมากแค่ไหน ที่นั่งมีผลส่วนหนึ่งก็จริงอยู่ แต่ต่อให้น้องๆ นั่งหน้าสุด ทำเลดีสุด แต่ใจลอยไปถึงเรื่องอื่น หรือหลับตลอดเวลา ก็ไม่ช่วยอะไร
ดังนั้น ได้ที่นั่งดีแล้ว ก็ต้องทุ่มเทให้การเรียนเต็มร้อยด้วย
ว่าแต่ตอนนี้น้องๆ นั่งตรงไหนกันบ้าง เป็นเด็กหน้าห้อง กลางห้อง หลังห้อง หรือเด็กติดหน้าต่าง ลองมาแบ่งปันข้อดี – ข้อเสียของที่นั่งตัวเองให้เพื่อนๆ ได้รู้หน่อยก็ดีนะ จะได้เรียนดียกห้อง ยกโรงเรียนกันไปเลย!
ทาง ChulaGradeup หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลที่รวบรวมมาให้จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย หากน้อง ๆ ต้องการอ่านบทความอื่น ๆ คลิกที่นี่
FB Fanpage : @ChulaGradeup
ขอบคุณข้อมูลจาก
www.mdpi.com/journal/education