ตอนนี้พี่ ๆ TCAS Dek62 ก็ทราบผลการสมัครสอบกันไป เกือบจะเรียบร้อยหมดแล้ว ส่วนน้อง ๆ ม.6 หรือ Dek TCAS 63 หลายคนก็เริ่มเตรียมตัวที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยกันบ้างแล้ว แต่บางคนยังมึน ๆ งง ๆ ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นจากอะไรดี ดังนั้นทาง Chula Gradeup Tutor ขอแนะนำวิธีที่น้อง ๆ ที่ยังไม่รู้ว่าจะต้องเตรียมตัวอย่างไร เพื่อให้ความฝันของน้อง ๆ ประสบความสำเร็จ หรือ อาขขะสอบถามจากรุ่นพี่ในคณะที่อยากเข้า ก็เป็นอีกแนวทางที่ดีเช่นเดียวกันนะ ส่วนใครที่ไม่รู้จักรุ่นพี่ เลยไม่รู้ว่าจะต้องเตรียมตัวยังไง ไม่ต้องกังวลไปเลย มาอ่านบทความนี้ พี่ ๆ Chula Gradeup Tutor ได้รวบรวมเทคนิคการเตรียมตัวสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัย 5 ขั้นตอน ให้น้อง ๆ แล้ว มีขึ้นตอนอย่างไรบ้าง ตามมาดูกันได้เลย…
5 ขั้นตอนเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัย จุดเริ่มต้นของ Dek TCAS
ขั้นตอนที่ 1 สำรวจตัวเองว่าชอบอะไร
เรียกได้ว่าเป็นขั้นตอนแรกที่ทุก ๆ คนจะต้องทำ ไม่ว่าใครก็จะต้องรู้ว่าตัวเอง “ต้องการอะไร” “ชอบอะไร” อยากเรียนมหาวิทยาลัยไหน คณะอะไร สาขาอะไร หรืออย่างน้อยที่สุด คือ รู้ว่าอยากเรียนในด้านไหน แล้วก็ไม่ใช่แค่ว่าอยากเรียนอะไร หรือชื่นชอบอะไร แต่น้อง ๆ จะต้องนึกถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่สามารถนำมาประกอบการตัดสินใจด้วย เช่น ความถนัดของตนเอง ความสามารถ คะแนนต่าง ๆ ความพร้อมทางด้านร่างกาย ความพร้อมทางด้านการเงิน เป็นต้น เพราะมีน้อง ๆ จำนวนไม่น้อยที่ผิดหวังจากการไม่สำรวจตัวเอง
ขั้นตอนที่ 2 ศึกษาคณะ-สาขาวิชา และมหาวิทยาลัยที่ชอบอย่างละเอียด
สิ่งนี้เรียกได้ว่าเป็นอีกขั้นตอนที่สำคัญ เมื่อน้อง ๆ ตัดสินใจคณะ หรือสาขา หรือมหาลัย ที่อยากเรียนแล้ว ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ให้น้อง ๆ เปิดเข้าไปที่เว็บไซต์ของคณะ หรือสาขาที่น้อง ๆ เลือกไว้ และศึกษา “หลักสูตร” หรือ “วิชาที่เปิดสอน” ดูว่า ตรงกับสิ่งที่คิดไว้ว่าอยากเรียนหรือไม่ เพราะบางครั้งชื่อคณะ หรือชื่อสาขาก็ไม่ได้บอกครอบคลุมสิ่งที่เรียนทั้งหมด จะเรียกให้ง่าย ๆ ก็เหมือนกับ “ภาพไม่ตรงปก” นั่นเอง ซึ่งหลาย ๆ ครั้งมีน้อง ๆ บางคนที่สอบผ่านในคณะที่เลือก…แต่สุดท้ายก็ไม่มีความสุขในการเรียน เพราะว่าไม่ตรงกับสิ่งที่คิดไว้ ดังนั้น การศึกษาตัวหลักสูตร หรือรายวิชาจะทำให้น้อง ๆ มั่นใจได้ว่า วิชาที่สอน คือสิ่งที่เราอยากเรียนหรือไม่ และในขณะเดียวกัน ก็อาจจะทำให้น้องบางคน ได้เรียนในสิ่งที่อยากเรียน แม้ว่าชื่อคณะ จะไม่เหมือนที่คิดไว้หรือไม่
ขั้นตอนที่ 3 ศึกษาระบบ TCAS และรอบที่เปิดรับสมัคร
TCAS เป็นเพียงชื่อระบบการสมัครใหม่ ที่จัดระเบียบการรับสมัครเข้ามหาวิทยาลัยแบบต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ให้อยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยจะแบ่งออกเป็น 5 รอบ ซึ่งน้อง ๆ มีสิทธิ์ที่จะเลือกสมัครในรอบใดก็ได้ (ไม่จำเป็นต้องลงสมัครในทุกรอบ) และถึงแม้ว่า ตอนนี้ระเบียบการ หรือกำหนดการต่าง ๆ ของปีการศึกษา 2563 ยังไม่ได้ประกาศออกมาแบบแน่นอน แต่ก็คาดได้ว่า ไม่น่าจะแตกต่างจากปีการศึกษา 2562 มากเท่าไหร่ ดังนั้นน้อง ๆ สามารถศึกษารายละเอียด สาขาวิชาที่เปิดรับในรอบต่าง ๆ ได้จากระเบียบการของปีการศึกษา 2562
น้อง ๆ ลองไปศึกษาดูว่า “คณะ หรือสาขาวิชา” ที่สนใจ เปิดรับสมัครในรอบไหนบ้าง จำนวนรับประมาณเท่าไหร่ เพราะแต่ละมหาวิทยาลัย แต่ละคณะ แต่ละสาขาไม่ได้เปิดรับสมัครในทุกรอบ เช่น คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย A เปิดรับสมัครในรอบที่ 1 และ 4 เท่านั้น ในขณะที่ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย B เปิดรับในรอบที่ 3 และ 4 เท่านั้น เป็นต้น
ขั้นตอนที่ 4 ศึกษาคุณสมบัติผู้สมัครอย่างรอบคอบ
เมื่อน้อง ๆ ศึกษารอบที่เปิดรับสมัครแล้ว ให้น้อง ๆ คุณสมบัติต่าง ๆ ที่คณะ หรือสาขาวิชากำหนดไว้อย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นคะแนนที่ใช้ วิชาที่ต้องสอบ เกรดเฉลี่ยสะสม (GPAX) Portfolio สอบสัมภาษณ์ โดยศึกษาทั้งเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนด ค่าน้ำหนัก หรือสัดส่วนที่ใช้พิจารณา (มักระบุเป็น %) รวมถึงคุณสมบัติ/ความสามารถพิเศษ และลักษณะทางกายภาพต่างๆ อย่าง ส่วนสูง น้ำหนัก หรือค่าสายตา เป็นต้นด้วย
คุณสมบัติของการสอบเข้าในแต่ละคณะมักมีกำหนดไว้ ดังนี้
- คะแนนที่ใช้ คือ สิ่งที่คณะ หรือสาขาวิชากำหนดไว้ เพื่อใช้เป็นเกณฑ์พิจารณา เช่น GPAX GPA O-NET GAT PAT 9วิชาสามัญ วิชาเฉพาะแพทย์ วิชาเฉพาะ (มหาวิทยาลัยจัดสอบเอง) IELTS TOEFL SAT CU-TEP TU-GET เป็นต้น ซึ่งจะเป็นตัวที่บ่งบอกให้น้อง ๆ รู้ว่า จะต้อง “สมัครสอบ” อะไรบ้าง
- เกรดเฉลี่ยสะสม (GPAX) คือ สิ่งน้อง ๆ จะต้องศึกษาว่า ในรอบที่ต้องการจะสมัคร ทางสาขาวิชาจะใช้พิจารณาจากกี่ภาคเรียน (4-5-6 เทอม) ดังนั้นถ้า GPAX ของน้อง ๆ ไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำ ก็จะอาจจะสามารถรีบเร่งทำคะแนนให้ได้ตามที่สาขากำหนดไว้
- เกณฑ์ขั้นต่ำ คือ คะแนนต่ำสุดที่ทางสาขาจะรับพิจารณา นั่นหมายความว่า น้องๆ จะต้องมีคะแนน เท่ากับ หรือมากกว่าที่กำหนดไว้
- ค่าน้ำหนัก หรือสัดส่วน คือ กรอบในการพิจารณาที่จะบอกให้น้องๆ ทราบว่า ทางสาขาวิชาจะใช้คะแนนแต่ละวิชา เป็นสัดส่วนเท่าไหร่บ้าง ซึ่งจะบอกเป็น %
ขั้นตอนที่ 5 เตรียมสมัคร และเข้าสอบ
สุดท้ายเมื่อน้อง ๆ ได้ข้อมูลทั้ง คณะ/สาขาวิชาที่ต้องการสมัคร รอบที่จะสมัคร คุณสมบัติ/คะแนนที่ต้องใช้มาเรียบร้อยแล้ว ให้จดบันทึก ด้วยวิธีใดก็ได้ ที่จะทำให้น้อง ๆ เห็นได้บ่อย และ สะดุดตาที่สุด รวมไปถึงให้น้อง ๆ “จดปฏิทิน” วัน-เดือน ที่เริ่มเปิดรับสมัครทุกชนิด วันจ่ายเงิน วันไปสอบทั้งข้อเขียน-สัมภาษณ์ ให้ละเอียดชัดเจน เพื่อไม่ให้น้อง ๆ ลืม หรือพลาดวันสำคัญต่าง ๆ
ทั้ง 5 ขั้นตอนนี้ น้อง ๆ ก็สามารถสมัครเข้าเพื่อพิจารณาคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยได้แล้วค่ะ แต่ก็อย่าลืม! วางแผนในการอ่านหนังสือด้วยนะ อย่างไรก็ตาม น้อง ๆ จะต้องติดตามข่าวสาร จากทาง ทปอ. สทศ. มหาวิทยาลัย และคณะอย่างใกล้ชิด เพราะข้อมูลรายละเอียดในทุกขั้นตอน สามารถเปลี่ยนแปลง และแก้ไขได้ตลอดเวลา หากมีอะไรอัพเดทเพิ่มเติม ทางพี่ ๆ Chula Gradeup Tutor จะรีบนำมาอัพเดทให้น้อง ๆ ทราบโดยเร็ว
FB Fanpage : @Chula Gradeup Tutor
Line ID : https://line.me/R/ti/p/%40wud8208i