เวลาผ่านไปเร็วจริง ๆ แป๊บ ๆ น้อง ๆ ก็ต้องเตรียมตัวยื่น Portfolio กันแล้ว หากใครไม่พร้อมสำหรับการเตรียมยื่น Portfolio อาจรอรอบต่อไปกันต่อได้เลย ดังนั้นทาง Chula Gradeup Tutor ขอแนะนำเทคนิคการเตรียมตัว “อ่านหนังสือ” อย่างไรให้ผ่านได้ทุกสนามสอบ มีเทคนิคอย่างไรบ้างนั้น น้อง ๆ สามารถตามมาดูกันต่อได้เลย …
5 เทคนิค อ่านหนังสือ เตรียมสอบให้ได้ผล มีดังนี้
1. อ่านง่ายไม่เหน็ดเหนื่อย (เริ่มอ่านล่วงหน้า 6 เดือน/ตั้งแต่เริ่มเรียน)
เตรียมตัวเร็วมีชัยไปกว่าครึ่ง การอ่านหนังสือเพื่อเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยนั้น มีน้อง ๆ บางคนเริ่มอ่านหนังสือสะสมมาตั้งแต่ ม.4 คนไหนเพิ่งจะมาเริ่มเอาจริงเอาจังตอนช่วง ม.6(ตอนนี้) ต้องรีบหน่อยนะ โดยใครจะใช้สูตรอ่านง่ายไม่เหน็ดเหนื่อย สามารถทำได้ ดังนี้
- ต้องรู้สิ่งที่ต้องการ หรือ รู้สิ่งที่ต้องสอบ สิ่งนี้ถือว่าสำคัญ ถ้าไม่รู้ว่าตัวเอง ต้องใช้คะแนนอะไรบ้าง สอบวิชาอะไรบ้าง เราจะอ่านหนังสือไปแบบไร้จุดหมาย อาจจะอ่านในวิชาที่ไม่จำเป็นก็ได้
- หาหัวข้อที่ออกสอบ รูปแบบข้อสอบ ผังข้อสอบ หรือ Test Blueprint สิ่งนี้จะทำให้รู้ว่าเนื้อหาที่ออกสอบมีอะไรบ้าง เราสามารถอ้างอิงจากรุ่นพี่ ๆ ที่ได้สอบมาแล้ว เพราะไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงเยอะมาก อย่างข้อสอบวิทย์ที่หลาย ๆ คนกลัวว่าโจทย์จะยากแบบพลิกแพลง แต่บางครั้งก็ง่ายมากแทบจะเหมือนในหนังสือเรียนก็มี ดังนั้น ใครอ่านถูกจุดก็ได้แต้มไป
- ทวนความรู้ที่มี หลังจากได้สิ่งที่ต้องอ่านมาทั้งหมด เราก็ทวนความรู้ที่เคยเรียนมาได้เลย ช่วงแรกน้องบางคนอ่านจะเริ่มจากวิชาที่เราไม่ถนัด วิชาที่ต้องใช้ความจำ และ ความเข้าใจก่อน หรือ วิชาที่ต้องเข้าใจทฤษฎี ถึงจะไปต่อพาร์ทคำนวณได้ ตรงนี้เรายังพอมีเวลาอ่าน และ ทำสรุปได้อยู่ หลาย ๆ วิชาเนื้อหาเยอะ ต้องอาศัยการอ่านทวนหลายรอบ และ ถ้าเก็บวิชาที่ไม่ถนัด แต่จำเป็นต้องสอบไปเตรียมตัวช่วงหลัง ๆ ความกดดันจะยิ่งบีบคั้นให้เราเครียดจนอ่านไม่รู้เรื่องก็เป็นได้
- งัดเทคนิคอ่านหนังสือ ช่วงเวลา 6 เดือนก่อนสอบนี้ ยังพอดีกับการขนเทคนิคมาใช้เวลาอ่านหนังสือ บางคนอ่านฟิสิกส์แล้วเขียนสรุปสิ่งสำคัญ + เนื้อหาที่เจอในข้อสอบบ่อย ๆ ลงบนกระดาษ A4 1 – 2 แผ่น เวลาย้อนกลับมาอ่านทวนจะได้ความรู้เนื้อ ๆ เน้น ๆ บางคนอ่านเหมือนติวให้ตัวเอง มีสรุปเนื้อหาเป็นภาพเหตุการณ์ ทำให้จำนานขึ้น นอกจากนี้ก็อาจจะนำเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างการอ่านหนังสือตามช่วงเวลาที่สมองทำงานดีที่สุดมาใช้ด้วย เช่น
- สูตร 50 นาที : อ่าน 50 นาที พัก 10 นาที เพราะช่วงเวลาที่สมองจดจ่ออยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ดี เฉลี่ยอยู่ที่ 50 นาที
- สูตร 25 นาที : อ่าน 2 ชม. แบ่ง 4 ยก ยกละ 25 นาที พัก 5 นาที ทำให้อ่านได้เรื่อยๆ จำแม่น
- สูตร 15 นาที : อ่าน 15 นาที พัก 15 นาที เพื่อให้สมองไม่ล้าจนเกินไป
2. อ่านไปเขียนไป (ควรมีเวลามากกว่า3 เดือนก่อนสอบ)
สูตรนี้เหมาะสำหรับน้องที่กลัวว่าตัวเองจะอ่านหนังสือไม่ทัน และเหมาะสำหรับน้องที่ต้องสอบวิชาคำนวณเยอะๆ เช่น คณิต ฟิสิกส์ เคมี ฯลฯ มีเทคนิคดังนี้
- ทำช็อตโน้ต พาร์ทคำนวณควรอ่านเนื้อหาเพื่อทำความเข้าใจทฤษฎี และ สรุปสูตรที่ต้องใช้ก่อน ส่วนพาร์ทที่เน้นทักษะอย่างวิชาอังกฤษให้สรุป Grammar สำคัญ ๆ ออกมา
- ฝึกทำโจทย์ รวบรวมข้อสอบเก่าหลาย ๆ ปี ย้อนหลังแล้วลงมือทำเลย ตรงไหนที่ทำไม่คล่องมือ รู้สึกความรู้หาย ให้กลับไปอ่านทวนอีกครั้ง จะทำให้น้อง ๆ เริ่มจับรูปแบบข้อสอบได้ รู้ว่าข้อสอบชอบมาสไตล์ไหน พลิกแพลงยังไง เอาโจทย์เก่ามาดัดแปลงไหม จะทำให้น้อง ๆ มั่นใจมากขึ้น
- จับเวลาทำข้อสอบ ถ้ารู้สึกว่าตัวเองเริ่มทำโจทย์สะสมได้มาก ก็ลองหยิบข้อสอบเก่าพร้อมนาฬิกาขึ้นมาจับเวลาดู จำลองให้เหมือนกับว่าเรากำลังทำข้อสอบจริงอยู่ สนามจริงใช้เวลา 1 ชม. เราก็จับเวลา 1 ชม. แล้วลองทำดูซิว่าได้เท่าไหร่ ทำผิดข้อไหนก็เปิดเฉลยดูวิธีการคิดเลย แต่ต้องเลือกแบบที่มั่นใจว่าเฉลยละเอียด และ ถูกต้อง ถ้าโจทย์ข้อนั้นไม่มีคำตอบที่ดีให้เรา ก็ลองหาโจทย์ที่มีรูปแบบคล้ายกันมาลองแกะดู จะทำให้เราคุ้นชินกับข้อสอบ จำวิธีแก้โจทย์ได้ขึ้นใจ เผลอ ๆ ยังได้เทคนิค แก้โจทย์ทางลัดกลับมาเป็นของแถมด้วย
3. อ่านแค่หัวข้อ (1 เดือนก่อนสอบ)
ใครที่ไม่ค่อยมีเวลา มารู้ตัวอีกทีก็เหลือเวลาแค่ 1 เดือนสุดท้ายก่อนสอบ แล้วคิดว่าจะอ่านหนังสือไม่ทัน ขอบอกว่าถึงจะรู้ตัวช้า แต่ก็ยังพอไหวนะ อ่านไงดีมาดูกันเลย
- ทำสรุปเรื่องที่สอบ เขียนใส่กระดาษตัวโต ๆ แล้วแปะไว้ที่โต๊ะหนังสือเลยว่า วิชาที่เราต้องสอบออกบทไหนบ้าง บทละกี่ข้อ รู้แล้วก็อย่าลน ให้ตั้งสติแล้วลุยสเต็ปต่อไป
- อ่านแค่หัวข้อหลัก ๆ ที่จะออกสอบ และทำสรุปให้เข้าใจง่าย ๆ คือหลักสำคัญของเรื่อง น้อง ๆ อาจจะเพิ่งเริ่มต้นอ่านเนื้อหาตั้งแต่ ม.4 ใหม่อีกครั้ง แต่นั่นไม่ได้แปลว่าเราต้องอ่านทั้งหมดนะ ความรู้เดิมต้องมีติดตัวกันบ้างล่ะ พยายามเก็บประเด็นสำคัญให้ได้มากที่สุด ถ้าคิดว่าอ่านเองไม่ทันจริง ๆ ก็ต้องเข้าหาแหล่งความรู้ที่มีประโยชน์ เช่น หนังสือสรุปดี ๆ สัก 1 – 2 เล่ม หา Channel ยูทูปติวฟรี ฯลฯ ในนั้นจะมีสิ่งที่เราตามหา ทั้งสรุปเนื้อหาวิชาต่าง ๆ บางคนมาแบบละเอียดมากๆ เทคนิคการทำข้อสอบ + วิเคราะห์ข้อสอบ
- อ่านหรือทำข้อสอบเก่าวนไป พอได้ประเด็นสำคัญมาแล้วก็อ่านวนไปนี่แหละค่ะ เวลา 1 เดือนเหมือนจะน้อย แต่ข้อดีของสูตรนี้คือคนที่ถนัดใช้ความรู้ร้อนๆ จะโดนใจมาก บางคนขี้ลืมง่ายไง ถ้าอ่านทิ้งไว้นานๆ แบบ 3 – 6 เดือน โดยไม่ได้ทวนซ้ำให้เปลี่ยนความจำระยะสั้นเป็นความจำระยะยาว มันจะลืมหมด แต่ 1 เดือนเราทวนทุกวัน ก็จะทันใช้งานพอดีเลย บางคนที่ไม่ถนัดอ่าน ก็ทำข้อสอบเก่าสู้กับเวลาไปค่ะ อย่านอยด์แล้วก็เท เพราะคิดว่าอ่านไม่ทันนะคะ ช่วง 1 เดือนสุดท้ายนี่เปลี่ยนชีวิตใครมานักต่อนักแล้ว
4. อ่านเอาเป็นเอาตาย (1 สัปดาห์ก่อนสอบ)
เข้าสัปดาห์สุดท้ายแล้ว ยิ่งกว่ารู้ตัวช้าอีก แต่ไม่ต้องไปสนว่าจะอ่านทัน หรือ ไม่ทัน ขอแค่อ่านเถอะ สิ่งที่อ่าน 1 สัปดาห์อาจจะช่วยชีวิตได้หลายข้อก็ได้
- ประเมินตัวเอง ลองประเมินความรู้ที่มีในตัวซิว่าตอนนี้แต่ละวิชาในตารางสอบ เราอ่านบทไหนแล้วคุ้ม บทไหนอ่านแล้วเสียเวลา หรือ ถ้าไม่มองเป็นบทแต่มองเป็นรายวิชา วิชาไหนอ่านอีกนิดเราน่าจะทำคะแนนได้ดี ส่วนวิชาไหนเทียบกับเวลาแล้วต้องอ่านอีกเยอะมาก แถมยังเข้าใจยาก เขียนใส่กระดาษเปรียบเทียบกันไว้เลย
- ตัดวิชาที่ไม่ได้สอบ จะอ่านทำไมตอนนี้ ทิ้งไปเลยจ้า อีกอย่างก็ คือ วิชาที่ยากเกินไป อ่านไปก็มีแต่จะงง ท้อแท้ ตัดออกจากแผนอ่านหนังสือเราได้เลย แต่ก็ต้องดูด้วยนะว่าวิชานั้น ต้องใช้สัดส่วนคะแนนเยอะหรือเปล่า ถ้าเกิดคณะที่อยากเข้าใช้ PAT 1 30% GAT 20% แล้วเราไปตัดคณิตออก แย่แน่ ๆ เลย สำหรับกรณีนี้ให้เลือกเก็บบทที่เราพอทำคะแนนได้ หรือ ถ้ามีเวลาเหลือก็ย้อนกลับมาทบทวนบทที่คาดว่าจะออกข้อสอบบ่อย
- อ่านแบบเร่งรัด คือไปเรียนรู้จากเฉลย แล้วทวนจากในนั้นเลย อย่างน้อยเราก็ได้รีเช็กความเข้าใจของตัวเอง ถ้าดูเฉลยแล้วยังมีเวลาเหลืออยู่ ก็หาสรุปดีๆ อ่านค่ะ อ่านมาราธอนให้เหมือนว่านี่เป็นครั้งสุดท้ายที่จะได้แตะหนังสือแล้ว ห้ามเทเด็ดขาด! ที่สำคัญงดติดต่อกับโซเชียล งดเล่นเกมไปเลย
5. อ่านจนวันสุดท้าย (รู้ตัวช้า 1 วันก่อนสอบ)
สูตรนี้ไม่อยากให้น้อง ๆ มาเริ่มอ่านเอาในวันสุดท้ายก่อนสอบจริง ๆ สภาพจะย่ำแย่มาก ๆ ก่อนลงสนามจริงอยากให้เราได้นำสิ่งที่อ่าน หรือ สรุปไว้ทั้งหมดมาทบทวนมากกว่า ถ้าเป็นไปได้ลองเขียนขึ้นมาเลยว่าจำอะไรได้บ้าง เช่น สรุปชีววิทยา เรื่องพันธุศาสตร์ มีศัพท์สำคัญคือจีโนไทป์ ฟีโนไทป์ ฯลฯ มีกฎพันธุกรรมคือ…ตรงไหนจำไม่ได้ก็เว้นไว้ก่อน ถ้าเป็นจุดสำคัญ เก็งไว้ว่าน่าจะออกข้อสอบก็ค่อยกลับไปอ่านทวนอีกที ค่อย ๆ อ่าน ทำใจให้สบาย ไม่ต้องเครียด แล้วก็เข้านอนเร็วๆ ค่ะ ตื่นเช้ามาจะได้สมองแจ่มใสพร้อมเข้าห้องสอบ
ทั้ง 5 เทคนิคนิคนี้เป็นสิ่งที่ Chula Gradeup Tutor ได้รวบรวมมา ส่วนน้อง ๆ คนไหนมีเทคนิคดี ๆ เพิ่มเติม สามารถแบ่งปันให้กับเพื่อน ๆ ได้ที่ Comment ด้านล่างเลย และถ้าน้อง ๆ ต้องการอ่านบทความอื่น ๆ เพิ่มเติมสามารถ คลิกที่นี่
FB Fanpage : @Chula Gradeup Tutor
Line ID : https://line.me/R/ti/p/%40wud8208i